ท่านเซ่งสิ่ว นักบวชนิกายเซ็นในยุคก่อน ผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผู้นำในการสืบทอดศาสนาพุทธนิกายเซ็นที่ท่านโพธิธรรม(ตั๊กม้อ)ได้นำมาเผยแผ่ในประเทศจีนยุคนั้น ได้จารึกโกอานบทหนึ่งไว้ ณ ผนังทางเดินของอาราม
กายอุปมาดั่งต้นโพธิ์
ใจเปรียบดังกระจกเงาใส
หมั่นเช็ดชำระฝุ่นออกไป
ให้จิตใจบริสุทธิ์ทุกวัน
ไม่กี่วันให้หลัง มีชายตัดฝืนผู้สันโดษผู้หนึ่งนามเว่ยหลาง ได้มาอ่านโกอานบทนี้บนผนังวัดเข้า จึงเขียนโกอานอีกบทหนึ่งไว้ข้างๆ
ต้นโพธิ์ต้นนั้นหามีไม่
อีกทั้งไม่มีกระจกเงาใส
แท้จริงหามีสิ่งใด
แล้วฝุ่นจะเกาะได้ที่ใดกัน
โกอานของชายตัดฟืนได้ถูกพบหลังจากนั้น ผู้พบเห็นต่างคนก็ต่างซาบซึ้ง และคิดกันว่าคงเป็นของพระอรหันต์ที่น่านับถือท่านใดท่านหนึ่ง
เรื่องที่ผมเล่ามานี้ประโยคบางท่อนบางตอน หรือชื่อบุคคลอาจจะผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่มั่นใจว่าใจความสำคัญยังคงเดิม
อาจจะจบลงแบบห้วนๆ ไม่ได้มีข้อสรุปอันใดในที่นี้ เพราะเชื่อว่าต่างคนย่อมต้องมีความเห็นแตกต่างกันไปแม้สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าคือสิ่งเดียวกันโดยสมบูรณ์ครบถ้วน
แต่ผมก็จะขออนุญาตแสดงความคิดเห็นกับเรื่องนี้ให้ทุกคนได้อ่าน รับรู้ หรือกระทั่งวิจารณ์ก็ยินดี
ท่านเซ่งสิ่วคงจะมองว่าการจะบรรลุธรรมได้นั้นต้องอาศัยความเพียร นั่งเพ่งมองที่จิตของตนเพื่อค้นหาสิ่งสกปรกที่อาจจะจับอยู่ในซอกใดของจิตใจ และจิตใจที่เปราะบางก็ยังอาจจะถูกกิเลสเข้ามาทำให้สกปรกได้อยู่เสมอ จึงจำเป็นที่เราต้องหมั่นชำระจิตใจอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้กิเลสมันพอกพูนหนาขึ้นจนไม่สามารถขจัดให้หมดสิ้นได้ และแน่นอนว่าเมื่อจิตใจได้ถูกชำระล้างจนสะอาดทุกวันก็จะสะท้อนไปให้เกิดกระทำที่สะอาดเฉกเช่นกัน และต้นโพธิ์หรือพระธรรมในตัวเราก็จะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
ในส่วนของเว่ยหลาง ตัวตนไม่มี จิตก็ว่างเปล่า แล้วกิเลสจะเกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งสกปรกจะไปจับรอยเปื้อนได้ที่ใด เมื่อไม่มีสิ่งใดทั้งนั้นที่เป็นของเรา กิเลสก็ไม่ได้เป็นของเรา ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องชำระล้างให้บริสุทธิ์
ผมไม่ได้เห็นว่าความคิดของท่านใดจะผิด และไม่ได้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันเลยแม้แต่น้อย ถึงแม้ว่าจะเป็นวิธีคิดที่แตกต่างแต่ก็นำไปสู่จุดหมายเดียวกัน วิถีทางท่านเซ่งสิ่วอาจจะเป็นวิถีที่ต้องเน้นการปฏิบัติอย่างหมั่นเพียรและค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่วิถีของเว่ยหลางเป็นวิถีที่อาจจะบรรลุได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะวิถีใดก็สามารถนำพาไปสู่การบรรลุธรรมได้เช่นกัน
วิถีชีวิตคนไทยปัจจุบันแม้จะดูเหมือนยังใกล้ชิดศาสนาแต่กลับห่างไกลหลักธรรมออกไปทุกที จริงๆ แล้วคนไทยไม่ได้เป็นคนเบาปัญญาขนาดที่จะไม่สามารถเข้าใจปรัชญาที่แท้จริงของศาสนา เพียงแต่เป็นคนรักความสบายจนเคยชิน เมื่อธรรมะเป็นนามธรรมที่หากต้องการที่จะสัมผัสอาจต้องใช้ความเพียรในระดับหนึ่ง นักการตลาดในคราบนักบุญจรึงสร้างพระเครื่องรุ่นต่างๆ ออกมามากมายหลายระดับ นัยว่าแต่ละรุ่นมีความศักดิ์สิทธิ์ไม่เท่ากัน เป็นทางลัดให้ผู้ที่นำไปบูชารู้สึกว่าตนได้เข้าถึงในรสพระธรรมแล้ว เฉกเช่นกับการบริจาคเงินสร้างวัตถุมงคล หรืออารามสถานต่างๆ คงเป็นเพียงการจับเอาบุญมาแปรรูปให้จับต้องได้ง่ายขึ้น จนกลายเป็นว่าคนหนึ่งคนสามารถมีบุญได้เพียงแค่มีเงินในกระเป๋า ทุกวันนี้หลายอย่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาถูกพยายามที่จะนำไปแปรรูปให้เป็นวัตถุให้เห็นชัดเจน ทั้งๆ ที่คำสอนของพระศาสดาหวังให้มนุษย์หลุดพ้นจากความยึดติดในรูปภายนอก ความยึดติดนี้ยังลุกลามไปถึงคนและพระกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะเรียกร้องให้รัฐรรมนูญกำหนดว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติโดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษาความเป็นพุทธศาสนาให้ยังคงอยู่ต่อไป จนลืมนึกไปว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะรักษาศาสนาไว้ได้คือการปฏิบัติดีและการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ดังที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้เป็นตัวอย่าง
ก็คงยังไม่ได้เลวร้ายเกินไปหากทุกคนยอมรับความแตกต่างทางความคิด และก็คงจะไม่มีความวุ่นวายในบ้านเมืองหากทุกคนยอมที่จะทิ้งความเป็นตัวกูของกูลงได้ และพยายามที่จะสมดุลโลกให้ยังกลมอยูทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment